วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556


ความหมาย


             คำว่า  พุทธมามกะ  แปลว่า  ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน  การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  หมายถึง  การประกาศตนของผู้แสดงว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตน

        การปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะคราวเดี่ยว  ทำซ้ำๆตามกำลังแห่งศรัทธาและความเลื่อมใสก็ได้  เช่น  พระสาวกบางรูป  ภายหลังแต่ได้รับการอุปสมบทแล้วก็ลั่นวาจาว่า  “พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์  ข้าพระองค์เป็นสาวก”  ดังนี้  เป็นต้น
ความเป็นมา

      เมื่อความนิยมในการบวชสามเณรลดลง  พร้อมกับการส่งเด็กไปเรียนในต่างประเทศมากขึ้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่  ๕)ทรงพระราชปริวิตกว่า  เด็กๆจักไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อพระพุทธศาสนา จึงโปรดให้พระโอรสของพระองค์ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อน และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชกาลที่  ๖)  ได้เป็นพระ องค์แรกที่ปฏิญาณพระองค์ตามธรรมเนียมที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น  และใช้เป็นราชประเพณีต่อมาอีกหลายพระองค์  เช่น  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จุมพฎพงศ์บริพัตร  พระโอรสสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตกับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆก่อนจะไปศึกษาในยุโรปก็ได้แสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะก่อน  เป็นต้น

       โดยเหตุนี้  จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะขึ้นสืบต่อกันมา  ในปัจจุบันความนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะของชาวพุทธไทย  สามารถสรุปได้  ดังนี้
๑.เมื่อบุตรหลานของตนรู้เดียงสาเจริญวัยอยู่ในระหว่าง  ๑๒ – ๑๕  ปี  ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ  เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธตามตระกูลต่อไป
๒.เมื่อจะส่งบุตรหลานไปเรียนยังต่างประเทศที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา
๓.เมื่อจะปลูกฝังนิสัยของเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนาส่วนมากทางโรงเรียนจะเป็นผู้จัดทำพิธีกรรม  อาจจะเป็นปีละครั้ง
๔.เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต้องการจะประกาศตน เป็นชาวพุทธ


การจัดสถานที่และการปฏิบัติตน

การปฏิบัติตน
        1. การมอบตัว ผู้ประสงค์จะประกอบพิธี ต้องไปมอบตัวกับพระอาจารย์ที่ตนนับถือและมุ่งหมายให้เป็นประธานสงฆ์ในพิธีด้วย ถ้าเป็นเด็กต้องมีผู้ปกครองนำไป ถ้าไปกันเป็นพิธีหมู่ เช่น นักเรียน ก็ ให้ครูใหญ่ หรือผู้แทนโรงเรียนเป็นผู้นำไป หรือนำแต่เพียงบัญชีรายชื่อของนักเรียนที่จะเข้าพิธีไปก็พอ ไม่ต้องนำนักเรียนทั้งหมดไปก็ได้ คือเอาเฉพาะนักเรียนตัวแทนจำนวนหนึ่ง การมอบตัวควรมีดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปถวายพระอาจารย์ตามธรรมเนียมโบราณด้วย เมื่อไปถึงให้ปฏิบัติ ดังนี้
พิธีในการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
พิธีในการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ


















        1.1 เข้าไปหาพระอาจารย์ทำความเคารพพร้อมๆ กับผู้นำ
        1.2 แจ้งความประสงค์ให้พระอาจารย์ทราบ เมื่อพระอาจารย์ทราบแล้วจึงมอบตัว
        1.3 การมอบตัว ให้ผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ ถือพานดอกไม้ธูปเทียนที่เตรียมไปนั้น ไหว้พระอาจารย์โดยคุกเข่ากราบลงกับพื้น กะว่าเข่าของตนห่างจากพระอาจารย์ศอกเศษ แล้วยกพานนั้นน้อมตัวประเคน เมื่อพระอาจารย์รับพานแล้ว เขยิบกายถอยหลังทั้งๆ ที่อยู่ในท่าคุกเข่านั้น ห่างออกมาเล็กน้อย ประนมมือก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ตรงหน้าพระอาจารย์ 3 ครั้ง
        1.4 กราบแล้วนั่งท่าพับเพียบลงตรงนั้น เพื่อฟังข้อแนะนำและการนัดหมายจากพระอาจารย์ให้เป็นที่เข้าใจเรียบร้อย
        1.5 เมื่อตกลงกำหนดการกันเรียบร้อย ก็ขอเผดียงสงฆ์คือขอประชุมสงฆ์หรือบอกนิมนต์สงฆ์อื่นต่อพระอาจารย์ตามจำนวนที่ต้องการซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 รูป รวมเป็น 4 ทั้งพระอาจารย์ด้วย
การจัดสถานที่
        การจัดสถานที่ เมื่อมอบตัวเสร็จแล้ว การเตรียมการก่อนถึงวันประกอบพิธีก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายสงฆ์กับฝ่ายผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ
ปัจจัยไทยธรรม

        สำหรับฝ่ายสงฆ์ พระอาจารย์ผู้เป็นประธานสงฆ์ ผู้รับมอบตัวต้องเตรียมบริเวณพิธีภายในวัดไว้ให้พร้อมก่อนกำหนด พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะนี้จัดในวัดเป็นเหมาะที่สุด ถ้าจัดในอุโบสถได้ยิ่งดี เพราะเป็นสถานที่สำคัญอันเป็นหลักของวัด แต่ถ้าในอุโบสถไม่สะดวกด้วยประการใดๆ ควรจัดในวิหารหรือศาลาการเปรียญ หรือหอประชุมแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ ในสถานที่นั้นควรมีโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป ซึ่งถือเป็นพระประธานในพิธี บริเวณพิธีควรจัดให้สะอาดเรียบร้อยและจัดให้เด่น ด้านข้างซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา หรือตรงหน้าพระพุทธรูปประธานให้ตั้งหรือปูอาสนะสงฆ์ หันหน้าออกตามพระพุทธรูปประธาน นี้เป็นเรื่องของสงฆ์นะ
        ฝ่ายผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ ในสมัยโบราณ ฝ่ายผู้แสดงตนจะนุ่งขาวห่มขาว และมีผ้าสไบเฉียงห่มทับอีกผืนหนึ่ง ถ้าเป็นนักเรียนหรือข้าราชการแก็แต่งเครื่องแบบของตนให้เรียบร้อยทุกประการเว้นแต่รองเท้า ต้องถอดในเวลาทำพิธี อีกประการหนึ่ง ต้องเตรียมเครื่องสักการะเฉพาะตน สำหรับถวายพระอาจารย์ในพิธีด้วย คือมีดอกไม้ธูปเทียนสำหรับบูชาพระรัตนตรัยในพิธี นอกนั้นจะมีเครื่องไทยธรรมถวายพระสงฆ์ในพิธีด้วยก็ได้

ขั้นตอนพิธีการ

พิธีการ เมื่อเตรียมการพร้อมทุกอย่างแล้ว พอถึงวันประกอบพิธีพึงปฏิบัติดังนี้
       3.1 ให้แสดงตนเป็นพุทธมามกะนุ่งขาวห่มขาว หรือแต่งเครื่องแบบของตนให้เรียบร้อย ไปถึงบริเวณพิธีก่อนกำหนด นั่งรอที่บริเวณพิธีตามที่จัดให้
       3.2 ถึงเวลากำหนด ให้พระอาจารย์และพระสงฆ์เข้าสู่บริเวณพิธี กราบพระพุทธรูปประธานแล้วนั่งประจำอาสนะ
       3.3 ให้ผู้แสดงตนเข้าไปคุกเข่าหน้าโต๊ะหมู่บูชาจุดธูปเทียนแล้ววางดอกไม้บูชา น้อมใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย แล้วเปล่งวาจาว่า
        “อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ ข้าพระเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้” (กราบ)
        “อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมิ ข้าพระเจ้าขอบูชาพระธรรมด้วยเครื่องสักการะนี้” (กราบ)
        “อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมิ ข้าพระเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะนี้” (กราบ)
        ถ้าเป็นการแสดงตนหมู่ ให้หัวหน้าเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาคนเดียว นอกนั้นวางธูปเทียนดอกไม้ในที่ๆ จัดไว้ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือ หัวหน้านำกล่าวคำบูชา ให้ว่าตามพร้อมๆ กัน การกราบต้องก้มลงกราบให้ถึงพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ทุกครั้ง

        3.4 เข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์ตรงหน้าพระอาจารย์ ถวายพานเครื่องสักการะแด่พระอาจารย์ แล้วกราบพระสงฆ์ตรงหน้าพระอาจารย์นั้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง                                                                            
        3.5 กราบเสร็จแล้วคุกเข่าประนมมือ กล่าวปฏิญาณตนให้ฉะฉานต่อหน้าคณะสงฑ์ทั้งภาษาบาลี และคำแปลเป็นตอนๆ ไปจนจบคำกล่าว ก็ไล่เรื่อยกันไป ตั้งแต่ตั้ง นะโม 3 จบ จนกระทั่งกล่าวคำปฏิญาณ ซึ่งท่านกำหนดเป็นแบบเฉพาะไว้ว่า

 การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
                                                 
        “เอสาหัง ภันเต, สุจิรปรินิพพุตัมปิ, ตัง ภควันตัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัญจ สังฆัญจ, พุทะมามโกติ มัง สังโฆ ธาเรตุ ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าว่าเป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือผู้นับถือพระพุทธเจ้า”
        (ถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียวก็เปลี่ยน “พุทธมามโกติ” เป็น “พุทธมามกาติ” ถ้าปฏิญาณพร้อมกันหลายคน ชายเปลี่ยน “เอสาหัง” เป็น “เอเต มะยัง” หญิงเป็น “เอตา มะยัง” และเปลี่ยน “คัจฉามิ” เป็นคัจฉามะ”)
                           
        จากนั้นก็ฟังพระอาจารย์ให้โอวาท จบแล้วก็รับคำว่าสาธุแล้วกล่าวคำอาราธนาศีล 5 รับศีล 5 จบแล้วกราบ ถ้ามีเครื่องไทยธรรมก็ถวายท่านเสียตอนนั้น เมื่อพระสงฆ์สวดอนุโมทนาเรารับพระแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี
        เพราะฉะนั้น แม้จะไม่ใช่สาระสำคัญที่สุด แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเหนี่ยวนำใจคนหมู่มาก ทำให้เกิดการรวมคนได้ ทำให้ระลึกความสำคัญของเรื่องที่เราต้องการระลึกได้ง่ายขึ้น เป็นการแสดงออกที่เด่นชัดของความเป็นชุมชน เป็นประเทศชาติ เป็นชาวพุทธ