วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556


ความหมาย


             คำว่า  พุทธมามกะ  แปลว่า  ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน  การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  หมายถึง  การประกาศตนของผู้แสดงว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตน

        การปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะคราวเดี่ยว  ทำซ้ำๆตามกำลังแห่งศรัทธาและความเลื่อมใสก็ได้  เช่น  พระสาวกบางรูป  ภายหลังแต่ได้รับการอุปสมบทแล้วก็ลั่นวาจาว่า  “พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์  ข้าพระองค์เป็นสาวก”  ดังนี้  เป็นต้น
ความเป็นมา

      เมื่อความนิยมในการบวชสามเณรลดลง  พร้อมกับการส่งเด็กไปเรียนในต่างประเทศมากขึ้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่  ๕)ทรงพระราชปริวิตกว่า  เด็กๆจักไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อพระพุทธศาสนา จึงโปรดให้พระโอรสของพระองค์ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อน และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชกาลที่  ๖)  ได้เป็นพระ องค์แรกที่ปฏิญาณพระองค์ตามธรรมเนียมที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น  และใช้เป็นราชประเพณีต่อมาอีกหลายพระองค์  เช่น  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จุมพฎพงศ์บริพัตร  พระโอรสสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตกับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆก่อนจะไปศึกษาในยุโรปก็ได้แสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะก่อน  เป็นต้น

       โดยเหตุนี้  จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะขึ้นสืบต่อกันมา  ในปัจจุบันความนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะของชาวพุทธไทย  สามารถสรุปได้  ดังนี้
๑.เมื่อบุตรหลานของตนรู้เดียงสาเจริญวัยอยู่ในระหว่าง  ๑๒ – ๑๕  ปี  ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ  เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธตามตระกูลต่อไป
๒.เมื่อจะส่งบุตรหลานไปเรียนยังต่างประเทศที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา
๓.เมื่อจะปลูกฝังนิสัยของเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนาส่วนมากทางโรงเรียนจะเป็นผู้จัดทำพิธีกรรม  อาจจะเป็นปีละครั้ง
๔.เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต้องการจะประกาศตน เป็นชาวพุทธ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น